Loading

ปัจจุบันโซลินอยด์วาล์วซึ่งทำหน้าที่เปิดและปิดการไหลของเหลวและก๊าซได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั้งในวงการอุตสาหกรรมและเครื่องใช้ตามบ้าน อาทิเช่น กระบวนการผลิตต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับของเหลวและก๊าซ อย่างเช่นในอุตสาหกรรมบำบัดน้ำ, อุตสาหกรรมอาหารและยา, อุตสาหกรรมสิ่งทอ, ในเครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็น, เครื่องชงกาแฟ และรถยนต์ เป็นต้น

โซลินอยด์วาล์ว (Solenoid Valves) คือ

อุปกรณ์ควบคุมการไหลของของไหล เช่น น้ำ อากาศ หรือก๊าชต่างๆ เป็นต้น ภายในวาล์วชนิดนี้เพิ่มส่วนประกอบขึ้นมาคือ ขดลวดพันแม่เหล็ก เป็นตัวกลางที่ใช้ร่วมกับพลังงานไฟฟ้า โดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านขดลวดจะเกิดพลังงานสนามแม่เหล็ก ส่งผลการทำงานปิด-เปิด ช่องการไหลของตัววาล์ว อุปกรณ์ชิ้นนี้มีระบบการทำงานให้เลือกหลายชนิดและควรเลือกวัสดุวาล์วให้เหมาะกับงาน เช่นงานเกี่ยวกับของไหลที่เป็นน้ำควรเลือกใช้วัสดุภายนอกที่เป็นพลาสติก งานเกี่ยวกับของไหลที่เป็นสารเคมีควรใช้วัสดุภายนอกที่เป็นทองเหลือง

ชนิดของวาล์วไฟฟ้า

ชนิดของวาล์วไฟฟ้าจะเขียนเป็นตัวเลข เช่น 2/2, 3/2,4/2 และ 5/3 ซึ่งตัวเลขแต่ละตัวนั้นจะมีความหมายที่แตกต่างกัน

  • ตัวเลขตัวแรก หมายถึง จำนวนทางเข้าออกของวาล์ว เป็นการระบุว่าวาล์วนั้นๆ มีจำนวนทางเช้าออกหรือมีกี่รู (port)
  • ตัวเลขตัวที่สอง หมายถึง จำนวนสถานะหรือจำนวนตำแหน่ง (position) ของวาล์ว

เช่น วาล์ว 2/2 นั้นจะหมายความว่า วาล์วตัวนี้ มีทางเข้าออก 2 ทาง และมี 2 สถานะ คือปิดและเปิด ส่วนวาล์ว 5/2 คือวาล์วที่มีทางเข้าออก 5 ทาง และมี 2 สถานะ เป็นต้น

หลักการทำงานของโซลินอยด์วาล์ว (Solenoid valve)

โซลินอยด์วาล์ว (Solenoid Valve) คือ วาล์วที่ทำงานด้วยไฟฟ้าที่ใช้ควบคุมปริมาตรของของไหลที่ไหลผ่านท่อ โดยการเปิดหรือปิดที่รู orifices ของตัววาล์ว การทำงานของโซลินอยด์วาล์ว 2/2 โดยทั่วไปมีการควบคุมให้เปิดปิดได้ด้วย 3 ระบบ คือระบบเปิดปิดโดยตรง (Direct acting) ระบบเปิดปิดทางอ้อม (Pilot control) และระบบลูกผสม (Combined Operation)

1. ระบบเปิดปิดโดยตรง (Direct acting)

โซลินอยด์วาล์ว 2 ทาง ที่มีระบบการทำงานแบบเปิดปิดโดยตรงนั้น  มีทางเข้าหนึ่งทางและทางออกหนึ่งทาง ทุ่น (plunger) ซึ่งมีซีลอยู่ปลายด้านล่างทำหน้าที่เปิดและปิดรูทางผ่าน (orifice) ของของไหลเมื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าหรือหยุดจ่ายไฟที่คอยล์ของวาล์ว

ข้อควรระวัง !!

ในการใช้วาล์วที่ทำงานด้วยระบบนี้คือเมื่อมีการเพิ่มความดัน (pressure) ของของไหลในระบบ จะทำให้ต้องใช้แรงมากขึ้นในการเปิดวาล์ว หากความดันของของไหลสูงกว่าที่กำลังของคอยล์จะเปิดวาล์วได้ วาล์วนั้นก็จะไม่ทำงานถึงแม้ว่า จะมีการจ่ายไฟฟ้าแล้วก็ตาม

กรณีที่เลือกชนิดของ Output เป็น NC

เมื่อยังไม่ได้จ่ายไฟเข้าคอยล์ โซลินอยด์วาล์วจะปิด
เมื่อจ่ายไฟเข้าคอยล์ โซลินอยด์วาลว์จะเปิด

2. ระบบเปิดปิดทางอ้อม (Pilot control)

ระบบการทำงาน วาล์วเปิด-ปิดโดยอาศัยหลักการความต่างของความดัน กล่าวคือ มีการจ่ายไฟเข้าคอยล์เพื่อให้ Plunger ยก Pilot Seal ขึ้นทำให้ของเหลวที่อยู่ด้านบนของแผ่นไดอะแฟรมไหลผ่านซึ่งจะทำให้ความดันด้านบนแผ่นไดอะแฟรมลดลงต่ำกว่าความดันของของไหลที่ไหลเข้ามา จึงทำให้แผ่นไดอะแฟรมยกขึ้นซึ่งจะทำให้เกิดการเปิดของวาล์ว

โครงสร้างแบบนี้จะใช้กับวาล์วที่มีขนาด 3/8” ขึ้นไป ในขณะที่คอยล์ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่  เพราะคอยล์ทำหน้าที่เพียงแค่เปิดรู Pilot จึงทำให้ราคาถูกและเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

ข้อควรระวัง !!

เนื่องจากต้องอาศัยความดันของของไหลในการช่วยเปิด-ปิด  ดังนั้นจึงไม่สามารถนำไปใช้กับงานที่ของไหลมีความดันต่ำได้

3. ระบบลูกผสม (Combined Operation)

ระบบการทำงานแบบลูกผสมนั้นมีทางเข้าหนึ่งทางและทางออกหนึ่งทาง การเปิดรูผ่านหลัก (orifice) ซึ่งอยู่ภายในตัววาล์วนั้นเป็นการผสมผสานทั้งการทำให้ความดันของพื้นที่ด้านบนและ ด้านล่างของแผ่นไดอะแฟรมเสียสมดุลย์บวกกับแรงที่ทุ่น (plunger) ของโซลินอยด์วาล์วช่วยออกแรงยกแผ่นไดอะแฟรมโดยตรงด้วย การทำงานหลักๆของแผ่นไดอะแฟรมก็เหมือนกับระบบ เปิดปิดทางอ้อมจะต่างก็ตรงที่ว่าแม้จะมีความดันขาเข้าเพียงน้อยนิดวาล์วก็สามารถเปิดได้ด้วยแรงยกของทุ่น (plunger)

ข้อควรระวังในการติดตั้งโซลินอยด์

  1. ตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆของโซลินอยด์วาล์วให้ละเอียดดังต่อไปนี้
    • ชนิดของของเหลว หรือตัวกลางที่ไหลผ่านวาล์ว
    • อุณหภูมิของของเหลวหรือตัวกลางที่ไหลผ่านวาล์ว
    • แรงดันไฟฟ้าที่ใช้
    • วัสดุและชิ้นส่วนต่างๆของวาล์ว เหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่
  2. ทำความสะอาด ฝุ่น,สนิม ตะกอนที่เกิดจากการเชื่อมในท่อด้วยน้ำยาเคมี หรือของเหลวที่มี ความดันสูง
  3. ติดตัวกรอง (Y-Strainer) ก่อนเข้าตัววาล์วและติดตั้งเกทวาล์วบายพาสไว้ เพื่อความสะอาด ในการซ่อมบำรุง และการดูแลรักษา
  4. ถ้าระดับแรงดันไฟฟ้าสูง หรือต่ำควรใช้ตัวควบคุมกำลังไฟ
  5. ห้ามใช้โซลินอยด์วาล์วในระบบที่ของไหลมีความร้อนสูงกว่าที่กำหนดหรือมี การเย็นตัวลง จนกลายเป็นของแข็ง หรือมีส่วนที่ไม่ละลาย
  6. ไม่ควรใช้งานโซลินอยด์วาล์ว ทำงานเปิด-ปิด แบบถี่ๆอย่างต่อเนื่อง เพราะจะทำให้เกิดความ เสียหายได้ง่าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *